มีหนังสือในท้องตลาดมากมาย รวมถึงบทความต่างๆ ที่เผยแพร่ตามสื่อ วารสาร แนะนำการเลี้ยงลูกที่มีพี่มีน้อง ให้รักใคร่กลมเกลียวกัน ตัวหมอเองก็ตั้งใจอ่านคำแนะนำเหล่านั้น และนำมาปฏิบัติกับลูกชายทั้งสองอย่างมุ่งมั่น เพราะอยากให้ทุกคนในครอบครัวมีสุขภาพจิตที่ดี
มาถึงวันนี้หมอคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว ความผูกพัน สามัคคีปรองดองของลูกชายทั้งสอง นำความสุข ความรื่นรมย์ในจิตใจ รวมไปถึงความสงบภายในครอบครัว มาให้หมอสองคนเป็นอย่างยิ่ง
จากการทำงานในฐานะจิตแพทย์เด็ก หมอกล้าพูดว่าในครอบครัวทั่วๆ ไป พบปัญหาพี่น้องทะเลาะ อิจฉาริษยาในความรักของพ่อแม่ ขาดความสามัคคีกัน จนถึงขั้นเกลียดกัน มีให้เห็นค่อนข้างมากจริงๆ
หมอให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นลำดับต้นๆ ด้วยความที่สิ่งนี้เป็นหนึ่งในงานประจำที่ต้องให้คำปรึกษาพ่อแม่ผู้ซึ่งกำลังร้อนใจ ที่ลูกๆ ไม่เมตตากันเท่าที่ควร
และในฐานะแม่ หมอก็อยากให้ครอบครัวของตัวเองไม่มีปัญหาเหมือนในครอบครัวของคนไข้ที่ต้องทนทุกข์เพราะลูกๆ ปฏิบัติต่อกันอย่างไม่ปรานี
เรื่องการทำให้พี่น้องรักกัน จึงเป็นเหมือนพันธกิจสำคัญของหมอ ตั้งแต่ตัดสินใจจะมีลูกมากกว่าหนึ่งคนเมื่อ 7 ปีที่แล้ว หมอจริงจังกับสิ่งนี้มาก อ่านหนังสือ อ่านทุกอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและเทศเขาสอนเอาไว้ ตลอดจนพยายามทำทุกอย่างให้ถูกต้องทันทีที่คลอดคนน้องออกมา
หมออยากถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดออกมาเป็นข้อปฏิบัติ ให้พ่อแม่คู่อื่นๆ ได้นำไปพิจารณาปรับใช้กับครอบครัวของตัวเอง เพื่อความผาสุกของสมาชิกทุกคนในบ้าน ดังนี้
1. ช่วงตั้งท้องคนน้อง หมอพยายามทำทุกอย่างให้เป็นปกติ เคยอุ้มคนพี่ยังไงก็ยังทำเหมือนเดิม (เวลา 9 เดือนในการตั้งครรภ์ ลูกชายคนโตจะมีอายุในช่วง 2 ขวบ 3 เดือน จนถึง 3 ขวบเต็มพอดีเมื่อน้องครบกำหนดคลอด)
2. หมอไม่พูดกับคนพี่ถึงเรื่องของน้องให้มากเกินไป แค่เอ่ยถึงบ้างบางเวลา เช่น เดือนพฤศจิกายนบ้านเราจะมีเด็กเบบี๋มาอยู่อีกคนแล้วนะ พูดแค่ครั้งสองครั้งเท่านั้นพอ เพราะสิ่งที่ควรคุยกับคนพี่คือเรื่องของคนพี่ ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น
3. ช่วงคลอด สามีลางานเพื่อดูแลคนพี่อย่างเต็มที่ และคอยช่วยเหลือภรรยาหลังผ่าตัดคลอด
หมอพยายามทำทุกอย่างเพื่อฟื้นตัวให้เร็วที่สุด พูดคุยกับคนพี่ ทำนั่นทำนี่ ให้ใกล้เคียงที่ผ่านๆ มาให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญคือไม่แสดงท่าทีสนใจคนน้องมากจนเกินไป ยามที่มีคนพี่อยู่ด้วย
4. ออกจากโรงพยาบาลมาอยู่บ้าน ทำกิจวัตรให้เหมือนเดิมทุกประการ เรื่องเจ็บแผลผ่าตัดบอกลูกคนพี่ตรงๆ ว่าคุณแม่คงอุ้มเขาไม่ได้อยู่ช่วงหนึ่ง ไม่นานมาก พอแผลหายดีจะอุ้มลูกได้เหมือนเดิม ช่วงนี้เรามาเล่นกัน อ่านหนังสือกันแบบนั่งพิงกันไปก่อนนะ
5. สามีของหมอจะทำเป็นคนทำกิจวัตรต่างๆ ให้คนน้องเต็มที่ ยกเว้นตอนกินนมแม่ค่อยเอาลูกมาให้หมอ จึงทำให้หมอยังใช้เวลากับคนพี่ได้คล้ายๆ เดิมเกือบทั้งหมด
6. หมอสองคนไม่บอกคนพี่ว่า ต้องรักน้อง ต้องให้น้อง เพราะความรักเป็นเรื่องที่ขอหรือสั่งไม่ได้ มันต้องออกมาจากหัวใจของเขากันเอง
7. อนุญาตให้คนพี่จับน้อง แตะน้อง หรือแม้กระทั่งอยากอุ้มน้อง หมอปล่อยเต็มที่เลย เพียงแต่เราคอยสอนให้เขาทำกับน้องอย่างนุ่มนวล เพราะน้องเป็นเด็กอ่อน
8. สามีของหมอเขาแข็งแรงพอ และรักลูกๆ มากพอ ที่จะอุ้มเด็กซ้ายคน ขวาคน อยู่เรื่อยๆ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ลูกทั้งสองชอบมาก
9. เมื่อคนน้องอายุได้ราวๆ 6 เดือน คนพี่จึงเริ่มเข้าอนุบาล 1 (สามขวบครึ่ง) ลูกไม่มีปัญหาในการไปโรงเรียน ถือว่าปรับตัวได้เร็วและราบรื่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่ได้เข้าโรงเรียนเร็วเกินไป
ทันทีที่คนพี่กลับถึงบ้าน หมอจะให้ความสนใจคนพี่ 100 % เพราะช่วงที่เขาอยู่โรงเรียน หมอดูแลคนน้อง 100% ไปเรียบร้อยแล้ว
เด็ก 6 เดือนโตพอที่จะปรับมื้ออาหารให้คล้ายๆ มื้อของเด็กโตบ้างแล้ว หมอก็แค่จัดเวลากินนมของคนน้องให้เรียบร้อยก่อนคนพี่
กลับจากโรงเรียน พอเด็กสองคนมาเจอกันก็จะเล่นกันได้ โดยมีพ่อหรือแม่ดูแล ปัญหาแทบไม่เกิดเลย
ถึงเวลาอาหารเย็น ก็สามารถกินในเวลาพร้อมๆ กันได้อีกด้วย
10. จับลูกนอนกลางคืนหัวค่ำ เด็กทั้งสองคนนอนห้องเดียวกันมาตั้งแต่เกิด มีที่นอนเป็นของตัวเองคนละฟูก เอามาปูชิดกันบนพื้น มีหมอนข้าง ตุ๊กตาส่วนตัว ทำหน้าที่เสมือนเป็นอาณาเขต หมอสอนเรื่องความเป็นส่วนตัว สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบให้ลูกๆ ตั้งแต่แรกเกิด ผ่านกิจวัตรประจำวันง่ายๆ เหล่านี้
พ่อแม่นอนบนเตียง 6 ฟุต ตอนยังไม่ถึงเวลานอน ลูกมาเล่น คลุกเนื้อคลุกตัวบนที่นอนพ่อแม่ได้ แต่เมื่อถึงเวลานอน ต้องนอนที่นอนของตัวเองเท่านั้น นี่คือกติกาที่ลูกทำจนเป็นปกติ โดยไม่เคยมานั่งตัดพ้อว่าพ่อแม่ไม่นอนกอดเขา เพราะไม่รักเขาหรือเปล่า
11. ลูกแต่ละคนถูกเลี้ยงราวกับว่าเป็น “ลูกคนเดียว” การเป็นพี่ หรือ น้อง ไม่ได้แปลว่าใครมีสิทธิพิเศษอะไร
เป็นพี่ไม่ได้แปลว่าต้องยอมน้อง เป็นน้องไม่ได้แปลว่าต้องเป็นผู้รับอยู่ตลอดเวลา
แต่ละคนต้องได้รับสิ่งที่สมควรได้รับตามสิทธิของการเป็นลูกบ้านนี้ ได้แก่ การได้รับความสนใจ การดูแล อบรมสั่งสอน ฝึกวินัยต่างๆ เป็นต้น
12. บ้านนี้ไม่อนุญาตให้ทำร้ายกันทุกช่องทาง ห้ามทำให้ใครเจ็บกาย และเจ็บใจ พ่อแม่ต้องไม่ตีลูก ลูกสองคนต้องไม่ตีกันเอง ปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ด้วยการพูดคุย เจรจากัน
13. ไม่มีการลงโทษแบบ “โดนทั้งคู่” เพราะวิธีนี้นอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้ว ยังเป็นหนทางที่ยอดเยี่ยมในการให้เด็กแต่ละคนเอาคืนกัน เมื่อถึงเวลาเหมาะๆ
14. ลูกชายสองคนมีเวลาอยู่กันตามลำพัง ภายใต้การดูแลของพ่อแม่ พ่อแม่จะพูดชื่นชมเป็นระยะเมื่อพวกเขาเล่นด้วยกันอย่างมีความสุข
เมื่อเริ่มๆ ขัดใจกัน พ่อแม่จะใช้เวลาสักนิดประเมินสถานการณ์ว่าต้องเข้าไปแทรกแซงหรือไม่
ถ้าคิดว่าจำเป็น จะเรียกเด็กสองคนมานั่งลงคุยกัน ถามเขาว่าอยากให้เล่าแม่ (หรือพ่อ) ฟังไหม หลายครั้งที่เขาตอบว่าไม่อยาก พ่อแม่ก็จะเคารพการเลือกของเขา แล้วปล่อยให้เขาสงบตัวเองลง ไม่นานก็กลับมาดีกันเหมือนเดิม
บางครั้งที่คนใดคนหนึ่งอยากเล่าเรื่องราว พ่อแม่จะตั้งใจฟังอย่างมาก และ “ไม่ตัดสิน” แค่ถามลูกว่า เขาอยากให้อีกคนทำอย่างไร คำตอบมักจะเป็นการส่ายหน้า แล้วพูดว่า “ไม่เป็นไรครับ”
จากการตั้งใจฟัง ไม่ตัดสิน ถามความต้องการ ไม่มีการลงโทษทั้งทางวาจาและทางกาย ผลที่ตามมาคือ สักพักเด็กสองคนจะหายหงุดหงิดกัน และกลับมาเล่นกันดังเดิม ราวกับว่าไม่เคยมีเหตุการณ์สัก 10 นาทีก่อนหน้านั้นเกิดขึ้นเลย
15. การเปรียบเทียบลูกสองคน หรือเปรียบลูกบ้านนี้กับลูกบ้านอื่น “เท่ากับศูนย์” หมอและสามีไม่เคยหลุด ไม่เคยพลาด เพราะคิดอยู่ในใจเสมอว่าเรื่องอย่างนี้ “พลาดไม่ได้”
ลูกชายสองคนเรียนคนละโรงเรียน คนโตอยู่สาธิตเกษตร ที่จริงเขาสอบติดทั้งกรุงเทพคริสเตียน (กท.) และสาธิตเกษตร แต่หมอเลือกสาธิตเพราะใกล้บ้านกว่ามาก ค่าเทอมราคาย่อมเยากว่าเยอะ
คนน้องสอบติด กท. แต่ไม่ติดสาธิตเกษตร เรื่องนี้ไม่สร้างปัญหาให้บ้านเราเลยแม้แต่น้อย เวลามีคนถามต่อหน้าลูกๆ ว่าทำไมแยกที่เรียนกัน หมอและสามีสามารถพูดตรงๆ ด้วยน้ำเสียงปกติได้เลยว่า คนเล็กสอบเข้าไม่ได้
คนที่รู้สึกกระอักกระอ่วนใจ กลับจะเป็นคนตั้งคำถามเสียมากกว่า เพราะเขาคาดเดาไม่ถูกว่าลูกชายคนเล็กของหมอจะรู้สึกอย่างไร
เรื่องนี้หมอก็เคยถามลูกชาย เขาตอบว่าเขาไม่ได้รู้สึกไม่ดี สีหน้าเขาดูปกติ ไม่ได้ดูว่าจะพูดไม่จริงแต่อย่างใด
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้หมอสองคนมั่นใจกับความรัก ความผูกพันของพี่น้องคู่นี้ เมื่อไม่กี่วันก่อนที่หมอจะเขียนบทความที่ท่านกำลังอ่านอยู่ จู่ๆ ลูกชายคนเล็กก็พูดขึ้นมาว่า “อยากให้พี่จูบิมาอยู่โรงเรียนเดียวกับจีรัณจัง” พี่ชายก็ขึ้นเสียงสูง ทำหน้ายิ้มปนประหลาดใจแล้วพูดว่า “พี่ก็เหมือนกัน คิดอยู่เลยว่าอยากให้จีรัณมาอยู่โรงเรียนพี่”
หมอสองคนอมยิ้มเลย เรามานั่งคุยกัน แล้วตีความสิ่งที่ลูกพูดอย่างนี้
หนึ่ง ลูกทั้งสองรัก และรู้สึกดีกับโรงเรียนของตัวเองมาก
สอง เด็กสองคนเขาเป็นพี่น้องที่รักกันมาก ถึงกับปรารถนาจะมาอยู่ในที่เดียวกัน ในเวลาที่เขาต้องแยกจากกันบ้าง
ทั้งหมดนี้กลั่นออกมาจากความตั้งใจดีต่อทุกท่านที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน อย่างจริงใจ
หมอเข้าใจ และสามารถรับรู้ความทุกข์ใจของคนเป็นพ่อเป็นแม่ ที่ลูกๆ ไม่รัก ไม่สามัคคี หรือจ้องจะทำให้อีกฝ่ายย่ำแย่อยู่เรื่อย
ขอให้พ่อแม่พยายามศึกษา หาความรู้ หมั่นฝึกฝนตนเอง เพราะมีหลายทักษะที่ถือว่าไม่ง่าย และไม่เป็นธรรมชาติเท่าใดนัก
มีเพียงความเพียรพยายาม มุ่งมั่น และมีเป้าหมายชัดเจนเท่านั้น ที่จะเป็นผู้ช่วยที่ดีที่สุดของพ่อแม่ทุกคู่ ถ้าท่านเลือกจะมีลูกมากกว่าหนึ่งคนแล้ว ท่านต้องเลี้ยงพวกเขาให้รักใคร่ ปรองดอง เอื้ออาทรต่อกัน ให้สำเร็จให้จงได้
ถึงเวลานั้นท่านจะได้รับความสุขใจ ความสงบร่มเย็นภายในบ้าน และรู้สึกคุ้มค่าเป็นที่สุด แก่ความพยายาม และความอดทนเป็นหลักหลายปีต่อเนื่อง อย่างที่หมอสองคนได้รับอย่างแน่นอน
หมายเหตุ หมอเอ่ยชื่อโรงเรียนของลูกเพราะต้องการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาที่สุด และไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรต้องปิดบัง ไม่ได้ต้องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือบอกว่าโรงเรียนใดดีกว่าโรงเรียนใดนะคะ
คุณหมอคะ
ดิฉันมีลูกสาว 2 คน
อัยย์ 5 ขวบ
เอญ่า 2.7 ขวบ
น้องมักเข้าไปแย่งของเล่นของอัยย์ บ่อย ๆ ไม่ว่าจะมีของเล่นกองอยู่มากมาย แต่ก็จะชอบไปแย่งชิ้นเดียวที่พี่ถืออยู่เสมอ
เหตุการ์ณก็จะออกมาแบบนี้
1. พี่ให้น้อง แล้วไปเล่นอันอื่น
2. แย่งกัน พี่ได้ไป น้องร้องโวยวายลั่น
จนพ่อ แม่ รำคาญ ขอให้พี่ให้ของแก่น้องไป
3. แย่งกันน้องได้ไป พี่ก็ร้องไห้ โวยวาย
ว่าน้องนิสัยไม่ดี แล้วก็เถียงกันหนักขึ้นเรื่อย ๆๆๆ
ขอปรึกษาคุณหมอว่า แม่ควรจัดการกับเหตุการ์ณทำนองนี้อย่างไรดีคะ พี่เริ่มมี หยิก ตี เตะ น้อง เวลาคิดว่าพอแม่ไม่เห็นแล้วค่ะ แต่น้องก็เริ่มฟ้องได้แล้วเช่นกัน ค่ะ
แม่ปวดหัวมากค่ะ
ขอความกรุณาด้วยนะคะ
หมอคัดลอกบทความ ที่หมอเคยตอบคุณพ่อท่านหนึ่งไว้ มาให้อ่าน แล้วทดลองปฏิบัติกับลูกๆ ตามนี้นะคะ
Q & A By พญ.สาริณี
สอบถามครับ ตอนนี้ลูกแฝด อายุ 1 ขวบ 4 เดือน แฝดน้องชอบแย่งของเล่นพี่ มีวิธีแก้อย่างไรครับ ไม่อยากให้ลูกติดนิสัยแย่งของ หวงของ
ตอบคุณพ่อลูกแฝดค่ะ
เด็กแต่ละคนเกิดมาพร้อมกับสมองที่ไม่เหมือนกันจริงๆ เลยนะคะ คุณพ่อมีลูกแฝดคงเห็นชัดกว่าใครเลย คนหนึ่งดูแสดงออกชัดเจนว่าฉันต้องได้สิ่งที่ต้องการ ในขณะที่อีกคนดูสมยอมกว่า
เด็กทุกคนจำเป็นต้องมีผู้ใหญ่ที่รักและเมตตาพวกเขา ช่วยปรับแต่งนิสัยใจคอ บุคลิกภาพตลอดทางเดินชีวิต จนกว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่ บางอย่างต้องเพิ่ม หลายอย่างต้องลด ค่อยๆ ปรับๆ กันไป
คุณพ่อท่านนี้น่ารักจริงๆ ไม่อยากให้ลูกติดนิสัยแย่งของ หวงของ อยากฝึกลูกตั้งแต่อายุ 1 ขวบ 4 เดือนเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะมากๆ ในการปรับแต่งลูกทั้งสองจริงๆ
การแย่งของ หวงของ เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ มนุษย์มีสัญชาตญาณอย่างนี้ เพราะเรียนรู้มาตลอดชีวิตว่า ทรัพยากรมีจำกัด ใครแกร่งกว่าจึงจะได้ของดีไปครอง
หมอให้ข้อมูลอย่างนี้ เพราะไม่ต้องการให้คุณพ่อมองสิ่งที่เกิดขึ้น ในด้านลบเกินไป จนรู้สึกหงุดหงิด ไม่พอใจว่าทำไมลูก “นิสัยไม่ดี” เมื่อทราบแล้วว่านิสัยอย่างนี้อยู่ในตัวคนเราทุกคน เพียงแค่คนไหนได้รับการปรับแต่งมามากหน่อย ก็ควบคุมเอาไว้ ไม่แสดงออกมาได้มากกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง
หลักคิดในการสอนเรื่องนี้คือ ต้องสอนให้ลูกแต่ละคน “เคารพสิทธิของคนอื่น” และ “ปกป้องสมบัติของตัวเอง” ควบคู่กันไปทั้งสองอย่าง
1. ทำให้ลูกทั้งสองเข้าใจตรงกันว่า ของเล่น ของใช้ ชิ้นไหนเป็นของส่วนตัวของใคร โดยอาจทำสัญลักษณ์หรือติดชื่อไว้ และอะไรที่เป็นของใช้ด้วยกันก็บอกให้ลูกเข้าใจ (วัยนี้เข้าใจได้แล้วแน่นอนค่ะ)
2. ถ้าน้องอยากได้ของเล่นของพี่ ฝึกให้น้องขออนุญาตพี่ทุกครั้ง ไม่ให้เดินมาหยิบไปเฉยๆ ถ้าพี่ยังไม่พร้อมจะให้ อย่าไปดุไปว่าคนพี่เด็ดขาด คุณพ่อต้องเคารพสิทธิของพี่ เป็นตัวอย่างให้คนน้องเห็นเป็นประจำด้วย
3. ถ้าคนพี่อนุญาตให้น้องเล่น คุณพ่อต้องรีบชมเชย กอดลูก หอมลูก อุ้มลูกมากอดแล้วบอกว่า ลูกเป็นเด็กเอื้อเฟื้อ แล้วก็รักน้องมาก พ่อมีความสุขจริงๆ และสอนให้น้องพูดขอบคุณ หรือยกมือไหว้ขอบคุณพี่ทุกครั้ง
4. ถ้าพี่ยังไม่พร้อมจะให้น้อง ลองถามดูว่ามีของเล่นอื่นชิ้นไหน ที่ลูกอนุญาตหรือไม่ ถ้าพี่หาของอื่นมาให้ ก็รีบชมเชย และทำทุกอย่างเหมือนข้อ 3 แต่ถ้าพี่ไม่ให้ชิ้นไหนเลย ก็อย่าดุว่าเป็นอันขาด ค่อยๆ ฝึกกันไปไม่รีบไม่ร้อน
5. ถ้ากำลังเล่นกันอยู่แล้วคนใดคนหนึ่ง มาแย่งของจากมืออีกคนไปเลย คุณพ่อต้องรีบเข้าไปจัดการ เอาของเล่นออกจากมือคนแย่ง แล้วสอนให้ขอก่อน ด้วยเหตุผลว่าอีกคนเขาเล่นอยู่ก่อน เราจะไม่แย่งของจากมือของใคร คนเล่นก่อนจะให้หรือไม่ให้ ให้ทำตามขั้นตอนข้างบน อย่าลืมว่าคุณพ่อกำลังสอนลูกๆ เรื่องการเคารพสิทธิของคนอื่น และปกป้องสมบัติของตัวเอง
6. การเล่นกันของเด็กวัยนี้ และเรื่อยไปจนถึงก่อนขึ้นประถม ต้องมีผู้ใหญ่คอยสังเกตการณ์เวลาเด็กเล่นกันเสมอ เพื่อช่วยปรับแต่งมารยาทในการอยู่ด้วยกัน อย่าปล่อยให้เด็กเล่นกันเอง พอเกิดปัญหาก็คิดแต่ว่าจะลงโทษใครยังไงดี นั่นไม่ใช่วิธีที่ดีเลย
7. สุดท้าย และสำคัญที่สุด ผู้ใหญ่ในบ้านต้องเป็นต้นแบบการเคารพสิทธิผู้อื่นให้ลูกเลียบแบบให้ได้ จะหยิบของส่วนตัวของลูกไปใช้ ต้องขออนุญาต เช่น พ่อขอยืมดินสอของลูกแป๊บนึงนะ เดี๋ยวจะเอามาคืนไว้ที่เดิมนะครับ ขอบคุณครับ
นี่คือสิ่งที่หมอก็สอนลูกชายเช่นเดียวกัน ถึงวันนี้เวลาหมอขอบคุณลูก ลูกจะตอบกลับด้วยการพูดว่า “ด้วยความยินดีครับคุณแม่” ฟังแล้วชื่นใจทุกครั้งเลยค่ะ
กำลังจะมีลูกอีกคนค่ะ อยากให้พี่น้องรักกัน
พี่น้องรักกันขึ้นกับฝีมือพ่อแม่ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มค่ะคุณติ๊บ
แปลว่า สบายใจได้เลย เพราะสิ่งนี้อยู่ในความควบคุมของเรา
ตั้งใจทำสิ่งที่ถูกต้องตั้งแต่แรก อาจเหนื่อยมากหน่อย แต่ผลลัพธ์น่าชื่นใจเป็นที่สุดค่ะ
ขอบคุณค่ะ ได้ความรู้จากคุณหมอเยอะเลยค่ะ